ปัญหาในการแปล

ปัญหาในการแปล     

1.1 ปัญหาทางด้านไวยากรณ์และโครงสร้าง เช่น การแปลประโยคที่มีกริยาเป็นกรรมวาจก(Passive voice) การแปลกาล (Tense) การแปลคำเชื่อมโยง (Connectives) การแปลสรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง (Indefinite pronouns) การแปลประธานที่ไร้ความหมาย (Dummy subject)  

                ตัวอย่าง

ประโยคที่มีกริยาเป็นกรรมวาจก

                1.  He was invited  to give a speech at the Opening ceremony.

มีผู้แปลว่า:   เขาถูกเชิญให้ไปพูดในพิธีเปิด  

ข้อสังเกต:    ในภาษาไทยเมื่อใช้คำว่า   “ถูก”   นำหน้ากริยา   ความหมายจะส่อไปในทางไม่ดี

                 ผู้แปลควรระมัดระวัง

ควรแปลว่าเขาได้รับเชิญให้ไปพูดในพิธีเปิด

                2. Many of Sidney Sheldon’s works have been translated into many             languages.

มีผู้แปลว่า:   ผลงานของ ซิดนีย์  เชลดอน หลายเล่มถูกแปลเป็นหลายภาษา

ข้อสังเกต :   ความหมายของประโยคนี้เป็นกลาง ๆ ไม่ควรใช้คำว่า  “ถูก” นำหน้ากริยา

ควรแปลว่า:  มีการแปลงานของ  ซิดนีย์  เชลดอน  ออกมาหลายภาษา

การแปลกริยาที่อยู่ในกาลต่าง  ๆ     

                1. By the time her son returned home, she had already gone to bed.

มีผู้แปลว่า:   ในที่สุดลูกชายของเธอก็กลับบ้าน เธอก็พร้อมจะเข้านอน  

ข้อสังเกต:    คำกริยาในภาษาอังกฤษเปลี่ยนรูปไปตามกาล แต่ในภาษาไทยคำกริยาไม่เปลี่ยนรูป

                 ไปตามกาล   ผู้แปลต้องหาคำมาประกอบคำกริยาในการแปลให้ได้ความหมายตรง

                 ตามกาลในภาษาต้นฉบับ

ควรแปลว่า:  กว่าลูกชายของเธอจะกลับถึงบ้าน   เธอก็เข้านอนแล้ว

                2.  She always  has a headache when she reads for a long time.

มีผู้แปลว่า:   เธอปวดศีรษะขณะเมื่อเธอกำลังอ่านหนังสืออยู่เป็นเวลานาน

ข้อสังเกตคำกริยาในประโยคนี้ใช้รูปปัจจุบัน เพื่อแสดงว่าเหตุการณ์ในประโยคเกิดขึ้นเสมอ 

                 โดยมีกริยาวิเศษณ์  always  เป็นตัวบอกความหมายให้ชัดเจนขึ้น

ควรแปลว่า: เธอมักจะปวดศีรษะเสมอเมื่อเธออ่านหนังสือเป็นเวลานาน ๆ  

คำเขื่อมโยงความคิดระหว่างประโยค

                1.   She saw an accident while she was crossing the street.  

มีผู้แปลว่า :  เธอเห็นอุบัติเหตุเมื่อเธอกำลังข้ามถนน  

ข้อสังเกต:    while เป็นคำที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์หนึ่งกำลัง

                 ดำเนินอยู่ และมีอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดซ้อนขึ้นมา 

ควรแปลว่าเธอแลเห็นอุบัติเหตุในขณะที่เธอกำลังข้ามถนน

                2.   They did not love each other, so they separated.

มีผู้แปลว่า:   เขาไม่รักกัน  เขาจึงแยกกัน

ข้อสังเกต:    so เป็นคำเชื่อมโยงเหตุและผล

ควรแปลว่าเขาไม่รักกันแล้ว  ดังนั้น  เขาจึงแยกทางกัน

คำสรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง

                1.   You are the one I  love.

มีผู้แปลว่า:   เธอเป็นคนหนึ่งที่ฉันรัก  

ข้อสังเกต:    one  เป็นสรรพนามที่ไม่เจาะจง ผู้แปลต้องอาศัยปริบทจึงจะแปลได้ถูกต้อง

ควรแปลว่าเธอคือคนที่ฉันรัก

                2.   The  Johnsons have two daughters, one a baby, the other a girl of twelve.

มีผู้แปลว่า:      ครอบครัวจอห์นสันมีลูกสาว 2  คน คนหนึ่งเป็นเด็กเล็ก ๆ 

                  คนอื่นเป็นเด็กผู้หญิงอายุสิบสอง  

ข้อสังเกต:            the other เป็นคำสรรพนามไม่เจาะจงจึงควรแปลคล้อยตาม

                 สรรพนานในปริบทนี้  

ควรแปลว่า:    ครอบครัวจอห์นสันมีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งยังเล็กอยู่  อีกคนหนึ่ง

                  เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12  ปี

ประธานที่ไร้ความหมาย

                1.    It was cold this year.               

มีผู้แปลว่า:          มันหนาวปีนี้  

ข้อสังเกต:         ประโยคภาษาอังกฤษจำเป็นต้องมีประธาน  it ทำหน้าที่เป็นประธานแต่

                             ไม่มีความหมายเพราะไม่ได้แทนคำนามตัวใด

ควรแปลว่า:         ปีนี้อากาศหนาว

                                2.   Oh! It’s  beautiful.

มีผู้แปลว่า:            โอ!   มันช่างสวย  

ข้อสังเกต:            เช่นเดียวกันกับตัวอย่างที่  1  it ไม่มีความหมาย

ควรแปลว่า:         แหม  สวยจังเลย

1.2   ปัญหาทางด้านศัพท์และสำนวน    ปัญหาทางด้านศัพท์และสำนวนเป็นปัญหาที่นักแปลมักจะพบอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่เรียนแปลและแปลไม่ได้ก็มักจะคิดว่าการที่ตนเองแปลไม่ได้เพราะไม่รู้คำศัพท์ แต่ถึงจะรู้ความหมายของคำศัพท์จากพจนานุกรมก็อาจจะยังแปลผิดเพราะไม่รู้จักเลือกความหมายที่ถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้  ได้แก่ คำศัพท์ที่มีความหมายหลายนัย  คำศัพท์ที่รูปเขียนมักทำให้เข้าใจความหมายผิด  คำกริยาคู่ (Phrasal verbs)  สุภาษิต  คำพังเพย และสำนวนต่าง  ๆ  

          ตัวอย่าง

                คำศัพท์ที่มีความหมายหลายนัย

                1.  I want to draw some money.

                2. Nobody can  draw  conclusions.

                draw  ในประโยคที่  1  แปลว่า ถอนเงิน

และประโยคนี้ควรแปลว่าฉันต้องการถอนเงิน                       

                draw  ในประโยคที่ 2  แปลว่า ลงความเห็น

และประโยคนี้ควรแปลว่าไม่มีใครลงความเห็น

 

คำศัพท์ที่รูปเขียนมักทำให้เข้าใจความหมายผิด

                1.  Many guerrillas were killed in the fight.

มีผู้แปลว่า:                           ฝูงลิงกอริลลาถูกฆ่าตาย

ข้อสังเกต:            ผู้แปลสับสนในเรื่องตัวสะกดของคำสองคำนี้

                          คือ    guerrilla (s)    ซึ่งแปลว่า     ผู้ก่อการร้าย

                        และ  gorilla (s)       ซึ่งแปลว่า     ลิงกอริลลา

ควรแปลว่า:         ผู้ก่อการร้ายจำนวนมากถูกฆ่าตายในการต่อสู้

                2.  The traffic problem in  Bangkok  has  been  ignored until very  lately.

มีผู้แปลว่า:           ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ  ถูกละเลยจนกระทั่งสายมาก

ข้อสังเกต:            ผู้แปลเข้าใจว่า  lately เป็นกริยาวิเศษณ์ของคุณศัพท์ late 

                                 ซึ่งแปลว่า ช้า       สาย  จึงแปลผิด

ควรแปลว่า:         ปัญหาเรื่องการจราจรในกรุงเทพฯ ถูกละเลยมาตลอดจนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้

 

คำกริยาคู่

                1.  The firemen successfully put out the fire.

                คำว่า “put  out” เป็น phrasal verb ที่เกิดจากกริยา put + out เมื่อมาใช้  คู่กันจะเกิดความหมายใหม่ขึ้นมา แปลว่า  ดับไฟ (to extinguish)

ประโยคนี้ควรแปลว่า:  พนักงานดับเพลิงดับไฟสำเร็จ

 

                2.  We can look up the meaning of words  in  the dictionary.

                คำว่า “look up” เป็น  phrasal verb ที่มีความหมายว่า ค้นหา

ประโยคนี้ควรแปลว่า:  เราค้นหาความหมายของคำได้จากพจนานุกรม

สุภาษิต  คำพังเพย  และสำนวนต่าง ๆ

                การแปลสำนวนเป็นเรื่องยาก   ผู้แปลต้องตีความหมายของสำนวนนั้นให้ได้ แล้วจึงหาคำแปลที่มีความหมายเทียบเคียงกันมาแปล การแปลไปตามรูปคำผู้อ่านจะไม่   เข้าใจเพราะไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิตของเจ้าของภาษา  จึงไม่ทราบภูมิหลังของสุภาษิตและคำพังเพยนั้น

                1. Carrying coals to Newcastle.

                ถ้าแปลคำพังเพยนี้ว่า เอาถ่านหินไปนิวคาสเซิล   ผู้อ่านที่เป็นคนไทยจะไม่เข้าใจความหมาย  แต่ถ้าแปลเทียบเคียงกับคำพังเพยไทยที่ว่า เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ผู้อ่านที่เป็นคนไทยจะเข้าใจมากกว่า           

                2. Yesterday he worked hard, so he slept like a log.

                ถ้าแปลประโยคนี้ว่า เมื่อวานนี้เขาทำงานหนัก เขาจึงนอนหลับเป็นตาย      ผู้อ่านคนไทยจะเข้าใจและมองเห็นภาพกว่า เมื่อแปลว่า เขาจึงนอนหลับเหมือนซุง

ใส่ความเห็น